26 พ.ย.2563 นายธีรภัทร พริ้งศุลกะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นตัวแทนเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ .. พ.ศ. .. โดยการกล่าวขอบคุณนายเทพไท เสนพงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาลงมติเห็นชอบ และนำส่งให้วุฒิสภาเพื่อให้ได้พิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป
โดยนายธีรภัทร ได้นำเสนอหลักการและเหตุผลในการขอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบในการอนุญาตปลูกพืชกระท่อม ให้เจ้าบ้านตามทะเบียนราษฎร์ปลูกได้ครัวเรือนละไม่เกิน 1 ต้น และต้องมีใบอนุญาตปลูก หากถูกจารกรรม สูญหาย ถูกทำลาย ต้องรายงานตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด มีข้อกำหนดในเสพพืชกระท่อมตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับอนุญาต และกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ที่บังคับอยู่ในวันก่อนที่พระราชบัญญัตินี้บังคับใช้ ยังคงมีผลต่อไป
นายธีรภัทรได้ให้เหตุผลว่า เนื่องจากพืชกระท่อมได้ถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 นับว่าเป็นเวลากว่า 40 ปี ขณะเดียวกันอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดให้โทษนั้น ไม่ได้มีการกำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติด หรือเป็นวัตถุออกฤทธิ์ที่ต้องควบคุมตามอนุสัญญาแต่อย่างใด ดังนั้นไทยจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันเทียมสากล
นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยด้วยว่าสารสกัดจากพืชกระท่อม มีประโยชน์ทางการแพทย์ ในหลายประเทศได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอนุญาตให้ประชาชนได้ใช้พืชกระท่อมเพื่อประโยชน์ในการรักษาตนเองแล้ว ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถปลูกพืชกระท่อมสำหรับใช้ประโยชน์ในครอบครัว โดยให้บุคคลผู้เป็นเจ้าบ้าน สามารถปลูกพืชกระท่อมในที่พำนักอยู่และมีชื่อในทะเบียนบ้าน ครัวเรือนละ 1 ต้น เพื่อประโยชน์ทางราชการ ทางการแพทย์ ทางการรักษาผู้ป่วย หรือเพื่อการศึกษา วิจัย และพัฒนา
นายธีรภัทร ระบุว่า ในบทวิเคราะห์ และบทสรุปสาระสำคัญที่อาจแตกต่างจากร่างฯ ของรัฐบาล และร่างฯ ของ ส.ส. พรรคอื่น คือ การอนุญาตให้ชาวบ้านสามารถปลูกพืชกระท่อมได้ครัวเรือนละไม่เกิน 1 ต้นนั้น จากการที่ ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ได้ลงพื้นที่สำรวจและทำประชาพิจารณ์มา พบว่า ประชาชนต้องการปลูกได้ถึง 3 ต้น โดยเฉพาะใน ต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นหมู่บ้านต้นแบบของการปลูก โดยใช้ธรรมนูญของหมู่บ้านในการดำเนินการ ก็พบว่า สามารถนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาได้
นอกจากนี้ การปลูกพืชกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจ ต้องขึ้นทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน และขออนุญาตต่อคณะกรรมการปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ส่วนการแปรรูปพืชกระท่อมเป็นรูปแบบต่างๆ เช่น แคปซูล ยาแก้โรคเบาหวาน ยาลดความดัน ยาแก้ไอ ยาลดความอ้วน หรือแปรรูปเป็นชากระท่อมนั้น ต้องขออนุญาตต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำหรับการใช้ใบกระท่อมในการใช้เป็นส่วนผสมของยาเสพติดให้โทษนั้น ก็ต้องยังคงเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องมีข้อกำหนด หรือออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อใช้ควบคุมต่อไป ทั้งนี้ยังคงมีกฎหมายรอง ที่สามารถใช้ควบคุมการใช้ใบกระท่อมเป็นยาเสพติดได้
นายธีรภัทรระบุว่า ในโอกาสต่อไปพืชกระท่อมนี้อาจมีความจำเป็นที่จะต้องออกเป็นพระราชบัญญัติพืชกระท่อมโดยเฉพาะเหมือนพระราชบัญญัติพืชชนิดอื่นๆ เช่น ยางพารา อ้อย เพราะมีความเป็นไปได้ว่าพืชกระท่อมจะได้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศต่อไป และสามารถเป็นสินค้าส่งออก นำรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้หากในการพิจารณาร่างฯ ฉบับนี้ จะมีการตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณา ก็ขอให้ได้นำร่างฯ ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาในชั้น กมธ. ด้วย
FB Democrat Party, Thailand พรรคประชาธิปัตย์